วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การแต่งกายโขน

การแต่งกายโขน  

แบ่งออกเป็น ๓ ฝ่าย คือ ฝ่ายมนุษย์เทวดา(พระ นาง) ฝ่ายยักษ์ ฝ่ายลิง

- ตัวพระ

             สวมเสื้อแขนยาวปักดิ้น และเลื่อม มีอินทรธนูที่ไหล่ส่วนล่างสวมสนับเพลา ไว้ข้างในนุ่งผ้ายกจีบโจงไว้หางหงส์ทับสนับเพลา ด้านหน้ามีชายไหวชายแครงห้อยอยู่ ศีรษะสวมชฎาสวมเครื่องประดับต่างๆ เช่น กรองคอ ทับทรวง ตาบทิศ ปั้นเหน่ง ทองกร กำไลเท้าเป็นต้น แต่เดิมตัวพระจะสวมหัวโขน แต่ภายหลัง ไม่นิยม เพียงแต่แต่งหน้าและสวมชฎาแบบละครในเท่านั้น ทั้งเทวดาและมนุษย์ แต่งกายเหมือนกันหมดคือ แต่งยืนเครื่องอย่างพระผิดกันแต่สีเสื้อเปลี่ยนไปตามสีกายประจำตัวละคร เช่น พระอินทร์สีเขียวพระพรหมสีขาว ท้าวมาลีวราชสีขาว พระราม สีเขียว พระลักษมณ์สีทอง พระพรตสีแดงชาดและพระสัตรุดสีม่วงอ่อน เป็นต้น เข้าใจว่าในสมัยโบราณตัวพระจะสวมหน้าด้วยเครื่องประดับศีรษะจึงมีหลายลักษณะ ของเทวดาเป็นมงกุฎยอดต่างๆ เช่นพระอินทร์เป็นมงกุฎเดินหนท้าวมาลีวราชเป็นมงกุฎยอดชัย หรือมงกุฎน้ำเต้าของมนุษย์เป็นมงกุฎชัย หรือชฎาพระ

- ตัวนาง

            สวมเสื้อแขนสั้นเป็นชั้นในแล้วห่มสไบทับ ทิ้งชายไปด้านหลังยาวลงไปถึงน่องส่วนล่างนุ่งผ้ายกจีบหน้า ศีรษะสวมมงกุฎ รัดเกล้าหรือกระบังหน้าตามแต่ฐานะของตัวละคร ตามตัวสวมเครื่องประดับต่างๆ เช่น กรองคอสังวาล พาหุรัด เป็นต้น แต่เดิมตัวนางที่เป็นตัวยักษ์ เช่น นางสำมนักขา นางกากนาสูรจะสวมหัวโขน แต่ภายหลังมีการแต่งหน้าไปตามลักษณะของ ตัวละครนั้นๆโดยไม่สวมหัวโขนบ้าง ตัวนางจะแต่งยืนเครื่องนางหมดทุกตัว ผิดกันแต่เครื่อง สวมศีรษะ คือ พระชนนีทั้งสามของพระราม นางสีดา มเหสีพระอินทร์ นางมณโฑนางเทพอัปสร นาง วานริน นางบุษมาลี ตลอดจนนางสุพรรณมัจฉานางสุวรรณกันยุมา นางตรีชฎาสวมรัดกล้ายอด นางเบญกายสวมรัดเกล้าเปลว ส่วนนางกาลอัคคี สวมมงกุฎยอดนาคนางกำนัลสวม กระบังหน้านางสุพรรณมัจฉามีหางปลาติดไว้ที่ส่วนหลังใต้เข็มขัดด้วยเพราะมีสัญชาติเป็นปลา

- ยักษ์

                แบ่งออกเป็นระดับต่างๆ คือ พญายักษ์ เสนายักษ์ และเขนยักษ์ พญายักษ์ เช่น ทศกัณฐ์อินทรชิต ไมยราพ พิเภก สหัสเดชะ แสงอาทิตย์ จะนุ่งผ้าเยียรบับทับสนับเพลาเช่นเดียวกันกับตัวพระแต่ไม่ไว้โจงหางหงส์ แต่จะมีผ้าปิดก้นห้อยลงมาจากเอว เครื่องประดับส่วนใหญ่เช่นเดียวกันกับตัวพระ เพียงแต่มีเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือตัวพญายักษ์ชั้นผู้ใหญ่ เช่น ทศกัณฐ์ มักจะมีรัดอกคาดอยู่ด้วย เสนายักษ์นุ่งผ้าเกี้ยว นอกนั้นก็เหมือนพญายักษ์ เพียงแต่ไม่มีรัดอก เขนยักษ์สวมเสื้อผ้าธรรมดา นุ่งผ้าลาบทับสนับเพลา ผ้าปิดก้นไม่มี คาดเอวด้วยผ้า มีกรองคอทำด้วยผ้าธรรมดาสวมศีรษะเขียนลาย พญายักษ์และเสนายักษ์แต่ละตัวมีสีกายและสีหน้าประจำตัวมีหัวโขนเฉพาะของตัว มียอดของส่วนมงกุฎแต่งต่างกันออกไป บางพวกก็ไม่มีมงกุฎเรียกว่า ยักษ์โล้น” นางอดูลปิศาจ เครื่องแต่งตัวบางทีไม่ใช้ยืนเครื่องอย่างนางแต่รวบชายล่างขึ้นโจงกระเบน ดูก็เหมือนยักษ์อื่นๆ คาดเข็มขัดแต่ไม่มีห้อยหน้าเจียระบาดอย่างพญายักษ์ สวมเสื้อแขนยาวอย่างยักษ์ผู้ชายแต่มีห่มนางทับบนเสื้อ เครื่องประดับอื่นๆ คล้ายตัวนางทั่วๆไปส่วนนางยักษ์ที่เป็นมเหสีหรือธิดาของพญายักษ์ แต่งกายยืนเครื่องนางสวมมงกุฎหรือรัดเกล้า ไม่สวมหัวโขน

* หมายเหตุ : บรรดาพญายักษ์ตัวสำคัญอื่นๆในการแสดงโขน จะแต่งกายคล้ายแบบนี้ ต่างกันแต่สี และลักษณะของหัวโขน ซึ่งนายช่างได้บัญญัติ และประดิษฐ์ให้แปลกแตกต่างกัน เฉพาะหัวยักษ์มีอยู่ราวร้อยชนิด

- ลิง


           แบ่งออกเป็นพวกๆ ได้แก่ พญาวานร เช่น หนุมาน สุครีพ องคต ฯลฯ พวกสิบแปดมงกุฎเช่น มายูร เกยูร เกสรมาลา ฯลฯ พวกเตียวเพชร เช่น โชติมุก พวกจังเกียงและพวกเขนลิง พวกพญาวานรและพวกอื่นๆ ยกเว้นเขนลิง แต่งตัวยืนเครื่องและสวมเสื้อตามสีประจำตัวในเรื่องรามเกียรติ์ แต่ไม่มีอินทรธนูนุ่งผ้าไม่จีบโจงหางหงส์ มีผ้าปิดก้นห้อยเอวลงจากด้านหลังเช่นเดียวกับยักษ์และมีหางห้อยอยู่ข้างใต้ ผ้าปิดก้น เฉพาะตัวมัจฉานุมีหางเป็นปลาผิดจากลิงอื่นๆลิงเหล่านี้แต่ละตัวมีหัวโขนเฉพาะของตัว ทั้งที่เป็นมงกุฎยอดต่างๆและทั้งที่ไม่มีมงกุฎเรียกว่า “ ลิงโล้น ” เสื้อลิงนั้นใช้ดิ้นและเลื่อมปักทำเป็นเส้นขด สมมติว่าเป็นขนตามตัวของลิง ไม่ทำเป็นลายดอกอย่างเสื้อตัวพระหรือยักษ์ และไม่มีอินทรธนู เขนลิงสวมเสื้อแขนยาวผ้าธรรมดา กรองคอก็เป็นผ้าธรรมดา นุ่งกางเกงคาดเข็มขัดมีหางและผ้าปิดก้น สวมศีรษะเขนลิง

* หมายเหตุ :บรรดาวานรตัวสำคัญอื่นๆในการแสดงโขน จะแต่งกายคล้ายแบบนี้ ต่างกันแต่สีและลักษณะของหัวโขน ซึ่งนายช่างได้บัญญัติ และประดิษฐ์ให้แปลกแตกต่างกันเฉพาะหัวลิงมีอยู่ประมาณ 40 ชนิด

- ตัวเบ็ดเตล็ด 
            ได้แก่ ตัวละครอื่นๆ เป็นต้นว่าฤาษีต่างๆ เช่น พระวสิษฐ์ พระสวามิตร พระโคบุตร เป็นต้น ล้วนแต่งกายแบบฤาษีเช่นเดียวกับเรื่องอิเหนาแต่ศีรษะคงสวมหัวโขน เป็นประจำช้างเอราวัณ สวมศีรษะช้างสามเศียร สีขาวมงกุฎยอดน้ำเต้า ส่วนช้างธรรมดาก็ใช้เช่นเดียวกับในเรื่องอิเหนาม้าอุปการสวมหน้าม้าสีดำ ปากแดง ส่วนมากลากราชรถอื่นๆ มีศีรษะ ม้าสวม มีหลายสีครอบไว้เหนือกระหม่อมหรืออาจใช้มาแผงห้อยไว้ที่ข้างลำตัว อย่างเรื่องอิเหนาก็ได้ นอกจากนี้ก็มีตัวเบ็ดเตล็ดอื่นๆซึ่งล้วนแต่สวมศีรษะสัตว์โดยได้จำลองเลียนแบบลักษณะของจริงมาหรือประดิษฐ์ให้ตรงกับในบท เช่น กวางทอง พญาครุฑเหยี่ยว ปลา พญานาค มหิงสา เป็นต้น

ลักษณะบทโขน 


 ประกอบด้วย บทร้อง  ซึ่งบรรจุเพลงไว้ตามอารมณ์ของเรื่อง บทร้องแต่งเป็นกลอนบทละครเป็นส่วนใหญ่ อาจมีคำประพันธ์ชนิดอื่นบ้างแต่ไม่นิยม บทร้องนี้จะมีเฉพาะโขนโรงในและโขนฉากเท่านั้น

๑  พากย์เมือง หรือพากย์พลับพลา คือบทตัวเอก เช่น ทศกัณฐ์หรือพระรามประทับในปราสาทหรือพลับพลา เช่น


ครั้นรุ่งแสงสุริยโอภาพุ่งพ้นเวหา
คิรียอดยุคันธร
สมเด็จพระหริวงศ์ทรงศรฤทธิ์เลื่องลือขจร
สะท้อนทั้งไตรโลกา
เสด็จออกนั่งหน้าพลับพลาพร้อมด้วยเสนา
ศิโรตมก้มกราบกราน
พิเภกสุครีพหนุมานนอบน้อมทูลสาร
สดับคดีโดยถวิ

๒  พากย์รถ เป็นบทชมพาหนะและกระบวนทัพ ไม่ว่าจะเป็นรถ ม้า ช้าง หรืออื่นใดก็ได้ ตลอดจนชมไพร่พลด้วย เช่น


เสด็จทรงรถเพชรเพชรพรายพรายแสงแสงฉาย
จำรูญจำรัสรัศมี
อำไพไพโรจน์รูจีสีหราชราชสีห์
ชักรชรถรถทรง
ดุมหันหันเวียนวงกึกก้องก้องดง
เสทือนทั้งไพรไพรวัน
ยักษาสารถีโลทันเหยียบยืนยืนยัน
ก่งศรจะแผลแผลงผลาญ

๓  พากย์โอ้ เป็นบทโศกเศร้า รำพัน คร่ำครวญ ซึ่งตอนต้นเป็นพากย์ แต่ตอนท้ายเป็นทำนองร้องเพลงโอ้ปี่ ให้ปี่พาทย์รับ เช่น


อนิจจาเจ้าเพื่อนไร้มาบรรลัยอยู่เอองค์
พี่จะได้สิ่งใดปองพระศพน้องในหิมวา
จะเชิญศพพระเยาวเรศเข้ายังนิเวศน์อยุธยา
ทั้งพระญาติวงศาจะพิโรธพิไรเรียม
ว่าพี่พามาเสียชนม์ในกมลให้ตรมเกรียม
จะเกลี่ยทรายขึ้นทำเทียมต่างแท่นทิพบรรทม
จะอุ้มองค์ขึ้นต่างโกศเอาพระโอษฐ์มาระงม
ต่างเสียงพระสนมอันร่ำร้องประจำเวร


๔  พากย์ชมดง เป็นบทตอนชมป่าเขา ลำเนาไพร  ทำนองตอนต้นเป็นทำนองร้อง เพลงชมดงใน ตอนท้ายเป็นทำนองพากย์ธรรมดา เช่น


เค้าโมงจับโมงมองเมียงคู่เค้าโมงเคียง
เคียงคู่อยู่ปลายไม้โมง
ลางลิงลิงเหนี่ยวลดาโยงค่อยยุดฉุดโชลง
โลดไล่ในกลางลางลิง
ชิงชังนกชิงกันสิงรังใครใครชิง
ชิงกันจับต้นชิงชัน
นกยูงจับพยูงยืนยันแผ่หางเหียนหัน
หันเหยีบเลียบไต่ไม้พยูง


๕  พากย์บรรยาย เป็นบทขยายความเป็นมา ความเป็นไป หรือพากย์รำพึงรำพันใดๆ เช่น พากย์บรรยายตำนานรัตนธนู


เดิมทีธนูรัตนวรฤทธิเกรียงไกร
องค์วิศวะกรรมไซร้ประดิษฐะสองถวาย
คันหนึ่งพระวิษณุสุรราชะนารายณ์
คันหนึ่งนำทูลถวายศิวะเทวะเทวัน
ครั้นเมื่อมุนีทัก-ษะประชาบดีนั้น
กอบกิจจะการยัญ-ญะพลีสุเทวา
ไม่เชิญมหาเทพธก็แสนจะโกรธา
กุมแสงธนูคลาณ พิธีพลีกรณ์


๖  พากย์เบ็ดเตล็ด เป็นบทที่ใช้ในโอกาสทั่วๆ ไป เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เข้าประเภทใด เช่นกล่าวว่า ใครทำอะไร หรือพูดกับใคร ว่าอย่างไร เช่น


ภูวกวักเรียกหนุมานมาตรัสสั่งกิจจา
ให้แจ้งประจักษ์ใจจง
แล้วถอดจักรรัตน์ธำมรงค์กับผ้าร้อยองค์
ยุพินทรให้นำไป
ผิวนางยังแหนงน้ำใจจงแนะความใน
มิถิลราชพารา
อันปรากฏจริงใจมาเมื่อตาต่อตา
ประจวบบนบัญชรไชย


บทเจรจา  

         เป็นบทกวีที่แต่งเป็นร่ายยาว ส่งและรับสัมผัสกันไปเรื่อยๆ ใช้ได้ทุกโอกาส  สมัยโบราณเป็นบทที่คิดขึ้นสดๆ เป็นความสามารถของคนพากย์ คนเจรจา ที่จะใช้ปฏิภาณคิดขึ้นโดยปัจจุบัน ให้ได้ถ้อยคำสละสลวย มีสัมผัสแนบเนียน และได้เนื้อถ้อยกระทงความถูกต้องตามเนื้อเรื่อง  ผู้พากย์เจรจาที่เก่งๆ ยังสามารถใช้ถ้อยคำคมคาย เหน็บแนมเสียดสี บางครั้งก็เผ็ดร้อน โต้ตอบกันน่าฟังมาก  ปัจจุบันนี้ บทเจรจาได้แต่งไว้เรียบร้อยแล้ว ผู้พากย์เจรจาก็ว่าตามบทให้เกิดอารมณ์คล้อยตามถ้อยคำ โดยใช้เสียงและลีลาในการเจรจา  ผู้พากย์และเจรจาต้องทำสุ้มเสียงให้เหมาะกับตัวโขน และใส่ความรู้สึกให้เหมาะกับอารมณ์ในเรื่อง คนพากย์และเจรจานี้ใช้ผู้ชาย คนหนึ่งต้องทำหน้าที่ทั้งพากย์และเจรจา และต้องมีไม่น้อยกว่า ๒ คน จะได้โต้ตอบกันทันท่วงที  เมื่อพากย์หรือเจรจาจบกระบวนความแล้ว ต้องการจะให้ปี่พาทย์ทำเพลงอะไรก็ร้องบอกไป เรียกว่า "บอกหน้าพาทย์" และถ้าการแสดงโขนนั้นมีขับร้อง คนพากย์และเจรจายังจะต้องทำหน้าที่บอกบทด้วย การบอกบทจะต้องบอกให้ถูกจังหวะ


        

วิธีดูโขน  


             โขนเป็นละครใบ้ โดยเฉพาะโขนกลางแปลง ผู้ดูจึงต้องดูการแสดงท่าทาง ซึ่งจะบอกความหมาย ความรู้สึก ความคิด ความประสงค์ต่างๆ ได้ทุกอย่าง  ท่าทางที่โขนแสดงออกย่อมสัมพันธ์กับดนตรี ฉะนั้น หน้าพาทย์ต่างๆ ที่ใช้ในการแสดงโขนจึงมีความสำคัญมาก เช่น เพลงกราวนอก กราวในที่ใช้ในเวลาจัดทัพ แสดงให้เห็นความเข้มแข็งคึกคักของทหาร  ท่าทางของผู้แสดงก็แสดงให้เห็นความเข้มแข็งคึกคัก กระหยิ่ม องอาจ กล้าหาญ ความพร้อมเพรียงของกองทัพ  หรือเพลงเชิดและท่ารบ ก็แสดงให้เห็นการรุกไล่หลบหลีก ปิดป้อง หลอกล่อต่างๆ


ภาษาท่าทางของโขน 

จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

๑.  ท่าซึ่งใช้แทนคำพูด  เช่น รับ ปฏิเสธ
๒.  ท่าซึ่งใช้เป็นอิริยาบท และกิริยาอาการ  เช่น เดิน ไหว้ ยิ้ม ร้องไห้
๓.  ท่าซึ่งแสดงถึงอารมณ์ภายใน  เช่น รัก โกรธ ดีใจ เสียใจ



โอกาสที่แสดงโขน  

๑.  แสดงเป็นมหกรรมบูชา  เช่น ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือพระศพ พระบรมอัฐิ หรืออัฐเจ้านาย ตลอดจนศพขุนนาง หรือผู้ใหญ่เป็นที่เคารพนับถือทั่วไป

๒.  แสดงเป็นมหรสพสมโภช  เช่น ในงานฉลองปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ พระพุทธบาท พระแก้วมรกต พระอาราม หรือสมโภชเจ้านายทรงบรรพชา สมโภชในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมโภชในงานเฉลิมพระชนม์พรรษา สมโภชวันประสูติเจ้านายที่สูงศักดิ์ เป็นต้น

๓.  แสดงเป็นมหรสพเพื่อความบันเทิง ในโอกาสทั่วๆ ไป






- เครดิต  www.banramthai.com)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น