วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

ระบำ

ระบำ


          ระบำ ตามพจนานุกรมแปลว่า การฟ้อนรำ รำหรือฟ้อน ดังนั้น โดยนัยดังกล่าวนี้คำว่า ระบำ รำ หรือฟ้อน จึงไม่แตกต่างกันเลย ดังนั้น ระบำ คือ ศิลปะของการร่ายรำที่แสดงพร้อมกันเป็นหมู่เป็นชุด ไม่ดำเนินเรื่องราว ท่ารำบางครั้งก็มีความหมายเข้ากับเนื้อเรื่อง บางครั้งก็ไม่มีความหมายนอกจากความสวยงาม คำว่า "ระบำ" ย่อมรวมเอา "ฟ้อน" และ "เซิ้ง" เข้าไว้ด้วย เพราะวิธีการแสดงไปในรูปเดียวกัน หากแต่แยกให้เห็นความแตกต่างของท้องถิ่น วิธีร่ายรำตลอดจนการแต่งกายตามระเบียบประเพณีเท่านั้น คำว่า "ฟ้อน" และ "เซิ้ง" เป็นระบำประเภทพื้นเมืองแต่งกายตามเชื้อชาติ ประกอบด้วยเพลงที่มีทำนอง และบทร้องตามภาษาท้องถิ่น เช่น ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนลาวแพน เซิ้งสวิง เซิ้งกระติ๊บ ฯลฯ

ประเภทของระบำ ยังจำแนกออกได้เป็น
          ๑. ระบำแบบดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน ได้แก่ ระบำที่ฝึกหัดกันเพื่อให้เป็นแบบมาตรฐานที่มีมาแต่ครั้งโบราณ เช่น ระบำสี่บท หรือบางครั้งเรียกว่า "ระบำใหญ่" ต่อมามีผู้ประดิษฐ์ระบำซึ่งเลียนแบบระบำสี่บทขึ้นอีกหลายชุด และถือว่าเป็นระบำมาตรฐานที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น ระบำย่องหงิด ระบำดาวดึงส์ ระบำกฤดาภินิหาร ฯลฯ การแต่งกายประเภทระบำมาตรฐาน ส่วนใหญ่จะแต่งกายในลักษณะที่เรียกว่า "ยืนเครื่อง"

          ๒. ระบำปรับปรุง หมายถึงระบำที่ได้ปรับปรุงขึ้นใหม่ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ในโอกาสต่างๆ แยกได้เป็น

          - ปรับปรุงจากแบบมาตรฐาน หมายถึงระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นโดยยึดแบบ และลีลา ตลอดจนความสวยงามในด้านระบำไว้ ท่าทางลีลาที่สำคัญยังคงไว้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้งามขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสมกับสถานที่ที่นำไปแสดง
ปรับปรุงจากพื้นบ้าน หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นจากแนวทางความเป็นอยู่ของคนพื้นบ้าน การทำมาหากิน ขนบธรรมเนียมประเพณี ในแต่ละท้องถิ่นมาแสดงออกในรูประบำ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นของตน เช่น เซ้งบั้งไฟ เต้นกำรำเคียว ระบำงอบ ระบำกะลา รองเง็ง ฯลฯ

          - ปรับปรุงจากท่าทางของสัตว์ หมายถึงระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตามลักษณะลีลาท่าทางของสัตว์ชนิดต่างๆ บางครั้งอาจนำมาใช้ประกอบการแสดงโขน ละคร บางครั้งก็นำมาใช้เป็นการแสดงเบ็ดเตล็ด เช่น ระบำนกยูง ระบำนกเขา ระบำมฤครำเริง ระบำบันเทิงกาสร เป็นต้น
ปรับปรุงตามเหตุการณ์ต่างๆ หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใช้ตามโอกาสที่เหมาะสม เช่น ระบำพระประทีป ระบำโคมไฟ ประดิษฐ์ขึ้นใช้แสดงในวันนักขัตฤกษ์ เป็นต้น
ระบำประเภทปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ ลักษณะท่ารำจะไม่ตามตัวมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ตัวบุคคล ตลอดจนฝีมือ และความสามารถของผู้ประดิษฐ์ท่าระบำ รำ หมายถึง การแสดงที่มุ่งความงามของการร่ายรำ หรือการแสดงลีลาท่าทางของผู้รำ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น